ความหลากหลายอื่นๆ : ภาษาในลุ่มน้ำโขง

โตะชิยูกิ โดะอิ

มีภาษากว่า 398  ภาษา ใช้พูดกันใน 5 ประเทศบนลุ่มน้ำโขง (พม่า  ลาว  ไทย  กัมพูชา  และเวียดนาม) เท่ากับ 5.8  เปอร์เซ็นต์ของ 6,909  ภาษาในโลกที่ระบุโดยนักชาติพันธุ์วิทยา ในอีกด้านหนึ่งจำนวนผู้ใช้ภาษาใน 5  ประเทศเหล่านี้คิดเป็น 3.2  เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก แม้น้อยกว่าในแปซิฟิก (0.1 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก 18.1 เปอร์เซ็นต์ของภาษาทั้งโลก) และทวีปเหนือและอเมริกาใต้ (0.8 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก  14.4 เปอร์เซ็นต์ของภาษาทั้งโลก) แต่เมื่อเทียบกับในยุโรป (26.1 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก  3.4 เปอร์เซ็นต์ของภาษาทั้งโลก) หรือเอเชียทั้งหมด (60.8 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก  33.6 เปอร์เซ็นต์ของภาษาทั้งโลก) ก็อาจกล่าวได้ว่ามีความหลากหลายของภาษาในสัดส่วนเดียวกับประชากรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง*

ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สร้างความหลากหลาย

จาก 398 ภาษาที่ใช้ใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงพบว่ามี 164  ภาษา (41.2 เปอร์เซ็นต์) ที่คนพูดน้อยกว่า 10,000 คน** ขณะที่การคงอยู่ของภาษาอาจไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ภาษานั้นๆ ทั้งหมด (Nettle and Romaine 2000) ด้วยการคำนวณจากการเปรียบเทียบ (Crystal 2000) ประมาณว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของภาษาในโลกจะสูญหาญไปภายใน 100  ปี และภาษาในโลกที่มีคนพูดน้อยกว่า 10,000 คนอยู่ที่ 51 เปอร์เซ็นต์ (3,524 ภาษา) ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ภาษาในกลุ่มชาติพันธุ์ 164 ภาษาในลุ่มน้ำโขงจะสาบสูญไประหว่างศตวรรษที่ 21  คาดว่า 1  หรือ 2 ภาษา ใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงจะหายสาบสูญไปทุกปี ภาษามีการหายสาบสูญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ แต่อัตราการสาบสูญก็เพิ่มอย่างมากตลอด 500 ปีที่ผ่านมา (Nettle and Romaine 2000)

ภัยคุกคามต่อภาษาในกลุ่มชาติพันธุ์

ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่คุกคามภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขงคือการแพร่กระจายของภาษาหลัก เช่น ภาษาประจำชาติและภาษาราชการ โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับที่สนับสนุนหรือบังคับใช้ภาษาหลัก ขณะที่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์มีความจำเป็นและมีสิทธิในการเรียนภาษาประจำชาติและภาษาราชการ  แต่ครูหรือพ่อแม่เองพยายามจำกัดการใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งโดยตรงและทางอ้อม ทำให้เด็กตั้งคำถามถึงคุณค่าของการเกิดและการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่ได้มีการใช้ในโรงเรียนหรือแม้แต่ในบ้านและไม่อาจส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ภาษาหลักยังขยายตัวผ่านทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และการสื่อสารอื่นๆ เช่นเดียวกับวัฒนธรรมป๊อบในหนังและดนตรี อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียน AEC (Association of Southeast Asian Nations) ในปี 2558 (2015) ของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นช่องทางการสื่อสาร ทำให้ยากที่จะให้ความสนใจความสำคัญในคุณค่าของภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง  ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการ(บังคับ)ย้ายถิ่นฐานจากการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อนกำลังคุกคามต่อภาษากลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนที่พูดภาษามอแกนซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของพม่าและไทย ซึ่งก่อนนั้นก็โดนเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว ได้ประสบภัยแผ่นดินไหวและซึนามิในเดือนธันวาคม 2547 (2004) โดยเฉพาะพวกที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง นอกจากสูญเสียเรือและบ้านไปกับซินามิแล้ว ยังพบกับวิกฤตดังกล่าวด้วย (Skehan 2012)  และกลุ่มคนที่พูดภาษาอุก๊อง---ภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต - อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของไทยถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน เพราะการสร้างเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ด้วยเหตุนี้ความเป็นบึกแผ่นเหนียวแน่นของชุมชนท้องถิ่นจึงอ่อนแอลง เกิดอุปสรรคในการรักษาภาษาและอัตลักษณ์ (Bradley 1989) ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเต็มไปด้วยภูมิปัญญาและความรู้สะสมผ่านประเพณีวีถีชีวิต และการอยู่รอดในธรรมชาติของผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า นักวิจัยท่านหนึ่งกล่าวว่า คนเราเกิดมาพร้อมสิทธิในการพูดภาษาและวัฒนธรรม (McCarty et al. 2007) เท่ากับว่าการหายสาบสูญของภาษาก็ทำให้ภูมิปัญญาหายไปด้วย และยังมีอันตรายจากการถูกปฏิเสธสิทธิทางวัฒนธรรมของผู้คนกลุ่มนั้นๆ อีก เราไม่ได้กำลังประสบวิกฤตในแง่ความหลากหลายทางชีววิทยาเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตในแง่ความหลากหลายทางภาษาด้วย

---------------------------------------------------------------------------

* ในแอฟริกา 12.2 เปอร์เซ็นต์ ของคนทั้งโลกใช้ 20.5 เปอร์เซ็นต์ ของภาษาทั้งโลก
** Nettle (1999) รายงานว่าร้อยละของภาษาที่มีผู้ใช้น้อยกว่า 10,000 คน คือ 92.8 เปอร์เซ็นต์ ในออสเตรเลีย/โอเชียนเนีย 76.5 เปอร์เซ็นต์ ในอเมริกาใต้   77.8 เปอร์เซ็นต์ ในอเมริกาเหนือ   36.4 เปอร์เซ็นต์ ในอเมริกากลาง   32.6 เปอร์เซ็นต์ ในแอฟริกา และ 30.2 เปอร์เซ็นต์ ในยุโรป อัตราเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 59.4 เปอร์เซ็นต์ และในเอเชีย 52.8 เปอร์เซ็นต์

------------------------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
- Bradley, David. 1989. The Disappearance of the Ugong in Thailand. In Nancy Dorian (ed.) Investigating Obsolescence: Studies in Language Contraction and Death. Cambridge, UK: Cambridge University Press 33-40.
- Crystal, David. 2000. Language Death. Cambridge, UK: Cambridge University Press.
- Lewis, M. Paul (ed.) 2009. Ethnologue: Languages of the World, 16th Edition. Dallas, Texas: SIL International. http://www.ethnologue.com/
- McCarty, Teresa L., Tove Skutnabb-Kangas, and Ole Henrik Magga. 2007. Education for Speakers of Endangered Languages. In Handbook of Educational Linguistics. Oxford, UK: Oxford University Press 297-311.
- Nettle, Daniel. 1999. Linguistic Diversity. Oxford, UK: Oxford University Press.
- Nettle, Daniel, and Suzanne Romaine. 2000. Vanishing Voices: The Extinction of the World’s Languages. Oxford: UK, Oxford University Press.
- Skehan, Craig. 2012. Time Running out for Moken Way of Life. Bangkok Post May 13, 2012. http://www.bangkokpost.com/news/investigation/293059/time-running-out-for-moken-way-of-life