การฟื้นฟูวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : ความท้าทายของชาวชองในภาคตะวันออกของประเทศไทย

ชาวชองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 4,000 คน โดยอาศัยอยู่ใกล้ชายแดนกัมพูชาบริเวณอำเภอเขาคิชฌกูฏและอำเภอโป่งน้ำร้อน ทางด้านตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี มีหลักฐานบ่งชี้ว่าชาวชองอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอม (เปรมศรีรัตน์ 2550:81) ภาษาชองเป็นภาษาของชาวชอง และอยู่ในสาขาย่อยเพียร์ ในสาขามอญ เขมร ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก

ชาวชองเดิมดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า ในปัจจุบันส่วนมากปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด และผลไม้อื่นๆ ส่งขายและมีรายได้ที่มั่นคง  ชาวชองเลิกการล่าสัตว์และหาของป่าแล้วเหลือเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น ผู้สูงอายุชาวชองมีความรู้เรื่องยาสมุนไพร และผลิตผลอื่นๆ จากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้  พวกเขาจะปลูกสมุนไพร และต้นไม้รอบๆ บ้านเพื่อเป็นอาหารและยา ตามคำกล่าวของผู้อาวุโสชาวชองที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 70 ปี ตอนนั้นพวกเขาไม่ได้พบปะคนภายนอก นอกจากชาวชองด้วยกันเองในช่วงเวลาที่เติบโตมาด้วยกัน พูดกันแต่ภาษาชอง ต่อมาพ่อค้าชาวจีนและแรงงานชาวเขมรเริ่มอพยพเข้าตั้งถิ่นฐาน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองรัฐบาลไทย เริ่มส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ และเริ่มส่งครูมาสอนภาษาไทยในโรงเรียน การพูดภาษาชองเป็นสิ่งต้องห้ามในบางโรงเรียน และแม้แต่พ่อแม่ก็เริ่มที่จะเชื่อว่าการพูดภาษาชองกับลูกที่บ้านเป็นการขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กๆ ดังนั้น ภาษาชองจึงได้หายไปจากบ้าน และไม่มีการส่งต่อมายังคนรุ่นถัดมา

ในปัจจุบัน ชาวชองพูดได้แต่ภาษาไทย มีประมาณ 200 คนเท่านั้นที่พูดภาษาชองได้อย่างคล่องแคล่ว โดยในจำนวนนั้นไม่มีใครอายุน้อยกว่า 20 ปีเลย (เปรมศรีรัตน์ 2550:81)

ชาวชองและภาษา